วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ภูกระดึง จังหวัดเลย



 ภูกระดึง หรือ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากแห่งหนึ่งของเมืองไทยเพราะมีสภาพธรรมชาติสมบูรณ์ประกอบด้วยระบบนิเวศและภูมิประเทศหลากหลายทั้งทุ่งหญ้า ป่าสนเขา ป่าดิบ น้ำตกและหน้าผาชมทิวทัศน์ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไปสัมผัสความงามของสถานที่แห่งนี้มากมาย ซึ่งเส้นทางขึ้นภูกระดึงจุค่อนข้างชัน นักท่องเที่ยวจะต้องค่อย ๆ เดินขึ้นเขาไปเรื่อย ๆ โดยจะมีจุดแวะพักที่ “ซำ” หมายถึง บริเวณที่มีแหล่งน้ำใต้ดินผุดขึ้นมาแต่ละจุดมีเครื่องดื่มและอาหารบริการ ทั้งหมดนี้เป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวปรารถนาจะเป็นผู้พิชิตยอดภูกระดึงสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพื่อทดสอบแรงกายและแรงใจ

           สำหรับจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจบนภูกระดึง เช่น ผานกแอ่น เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่งดงามมากแห่งหนึ่ง สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างซึ่งเป็นท้องทุ่งและเทือกเขา ริมทางเดินใกล้ผานกแอ่นมีดอกกุหลาบป่าขึ้นเป็นดงใหญ่ ซึ่งบานสะพรั่งในเดือนมีนาคม-เมษายน, ผาหล่มสัก เป็นลานหินกว้าง และมีสนต้นใหญ่อยู่ใกล้กับชะง่อนหินที่ยื่นออกไปจากหน้าผา เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้ชัดเจนที่สุด จึงทำให้นักท่องเที่ยว ช่างภาพนิยมไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ผาแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของภูกระดึง

           ป่าปิด เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบางปกคลุมด้วยป่าดงดิบ มีลำธารหลากสายและน้ำตกสวยงามมากมาย ได้แก่ น้ำตกขุนพอง และน้ำตกผาน้ำผ่า เป็นต้น เปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมของทุกปี นอกจากนี้ ภูกระดึงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ด้วย เช่น ผาหมากดูก, น้ำตกวังกวาง, น้ำตกเพ็ญพบใหม่, น้ำตกโผนพบ, น้ำตกเพ็ญพบ, น้ำตกถ้ำใหญ่, น้ำตกธารสวรรค์, น้ำตกถ้ำสอเหนือ, น้ำตกถ้ำสอใต้ และสระอโนดาต เป็นต้น

           อย่างไรก็ตาม ภูกระดึงจะปิดฤดูการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายนของทุกปี และเปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 พฤษภาคมของทุกปี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง โทรศัพท์ 0 4287 1333, 0 4287 1458-9 เว็บไซต์ สำนักอุทยานแห่งชาติ หรือ ททท. สำนักงานเลย (เลย, หนองบัวลำภู) โทรศัพท์ 0 4281 2812, 0 4281 1480 เว็บไซต์ tourismthailand.org


พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม


 พระธาตุพนม หรือ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร วัดพระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ที่เป็นปูชนียสถานที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน ซึ่งผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีลงความเห็นว่าพระธาตุพนมสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1200-1400 ตามตำนานกล่าวว่าผู้สร้างคือ พระมหากัสสปะ พระอรหันต์ 500 องค์ และท้าวพระยาเมืองต่าง ๆ ภายในองค์พระธาตุบรรจุพระอุรังคธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ลักษณะของสถาปัตยกรรมมีแหล่งที่มาที่เดียวกันกับปราสาทของขอม และได้ทำการบูรณะเรื่อยมา ในปี พ.ศ. 2485 ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขึ้นเป็น “วรมหาวิหาร”

           แต่ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19.38 น. พระธาตุพนมได้ล้มทลายลงทั้งองค์ เนื่องจากความเก่าแก่ขององค์พระธาตุพนม และประจวบกับระหว่างนั้นฝนตกพายุพัดแรงติดต่อกันมาหลายวัน ประชาชนทั้งประเทศได้ร่วมบริจาคทุนทรัพย์และรัฐบาลได้ก่อสร้างองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามแบบเดิม การก่อสร้างนี้เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2522 นอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในองค์พระธาตุแล้ว ยังมีของมีค่ามากมายนับหมื่นชิ้น โดยเฉพาะฉัตรทองคำบนยอดพระธาตุเป็นฉัตรทองคำที่มีน้ำหนักถึง 110 กิโลกรัม

           ปัจจุบันองค์พระธาตุมีฐานกว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.60 เมตร เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสูงแลดูสง่างาม อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวนครพนม เป็นที่เคารพบูชาของชาวไทยและชาวลาว โดยเชื่อกันว่าหากใครได้มานมัสการครบ 7 ครั้ง จะเป็นลูกพระธาตุถือเป็นสิริมงคล แก่ชีวิตและมีความเจริญรุ่งเรือง นอกจานี้ ในวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีการจัดงานนมัสการองค์พระธาตุขึ้นเป็นประจำ ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานนครพนม โทรศัพท์ 0 4251 3490-1, 0 4251 3492 เว็บไซต์ tourismthailand.org 


สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี


สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ที่ถูกเรียกว่า “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย” ด้วยมีลักษณะของความงามของแก่งหินขนาดใหญ่ในลำน้ำโขง และวิถีชีวิตริมคลองสองฝั่งโขงนั้นงดงาม จนน่ามหัศจรรย์ไม่แพ้แกรนด์แคนยอน รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา โดยสามพันโบกเป็นแก่งหินที่อยู่ใต้ลำน้ำโขง เนื่องจากในช่วงฤดูน้ำหลากแก่งหินแห่งนี้จะจมอยู่ใต้บาดาล และด้วยแรงน้ำวนกัดเซาะทำให้แก่งหินกลายเป็นแอ่งเล็กใหญ่ จำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง หรือสามพันโบก โดยคำว่า “โบก” ภาษาท้องถิ่นนั้นแปลได้ว่า “แอ่ง” จนเป็นที่มาของชื่อ “สามพันโบก” ในช่วงหน้าแล้งสามพันโบกจะโผล่พ้นน้ำให้เห็นเป็นคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง ความสวยงามวิจิตรของหินที่ถูกน้ำเซาะมองเห็นเป็นภาพศิลปะ บางแอ่งใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำ บางแอ่งขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามจินตนาการที่สวยงามและน่าอัศจรรย์

           นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดในลำน้ำโขงตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุด ทำให้เกิดงานประเพณีที่น่าสนใจของชาวบ้านสองคอน คือ ประเพณีตักปลาในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ปากบ้อง ไปชมการจับปลาที่แปลกประหลาดกว่าที่อื่น ๆ ด้วยการใช้สวิงขนาดใหญ่ด้ามยาวคอยตักปลาที่จะว่ายผ่านปากบ้องทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่เป็นอีกหนึ่งประเพณีที่น่าสนใจ

           สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสความงามของแก่งสามพันโบกทั้งช่วงเช้าตรู่และช่วงยามเย็นพระอาทิตย์อัสดง ก็จำเป็นต้องหาและจองที่พักล่วงหน้า โดยที่พักส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณริมหาดสลึง จุดลงเรือท่องเที่ยวนั่นเอง มีที่พักสวยหลากสไตล์ทั้งแบบเห็นวิวหาดทรายและแม่น้ำโขงแบบใกล้ชิด หรือที่พักราคาประหยัดก็มีให้บริการ ในด้านอาหารการกินก็ไม่ต้องกังวล เพราะที่หาดสลึงก็มีร้านอาหารอร่อยมากมายบริการคุณทั้งเมนูปลาแม่น้ำโขง อาหารไทยตามสั่งทั่วไป อาหารพื้นบ้าน และอาหารอีสานมากมายให้คุณเลือกชิมกันจนอิ่มหนำสำราญ

           ทั้งนี้ การเที่ยวชมสามพันโบกสามารถเลือกได้สองวิธี คือ นั่งเรือชมวิวไปเรื่อย ๆ ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ไปจนถึงสามพันโบก หรือจะขับรถไปจนถึงสามพันโบกเลยก็ได้สำหรับคนที่มีเวลาเที่ยวน้อย แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะนิยมนั่งเรือชมวิวสวยสองฟากฝั่ง และยังมีสถานที่เที่ยวน่าสนใจก่อนถึงสามพันโบกให้ได้ตื่นตาตื่นใจอีกด้วย เช่น หาดสลึง หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำมูล ในฤดูแล้งน้ำโขงลดลงจะเผยมีหาดทรายสวยงาม เหมาะแก่การนั่งพักผ่อนสบาย ๆ ยามที่น้ำแห่งจัด ๆ จะเผยหาดทรายยาวตลอดแนวถึง 860 เมตรเลยทีเดียว, ปากบ้อง จุดที่แม่น้ำโขงไหลพาดปะทะแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย การปะทะกันของพลังธรรมชาติก่อให้เกิดภูมิประเทศแสนมหัศจรรย์ ลักษณะเหมือนคอขวดเป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้กว้างเพียง 56 เมตร

           หินหัวพะเนียง เกาะหินขนาดใหญ่ขวางกลางแม่น้ำโขง ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคนในภาษาท้องถิ่นจึงเป็นที่มาของชื่อบ้านสองคอน หินหัวพะเนียงรูปร่างคล้ายอุปกรณ์ประกอบคันไถไม้ (ในภาษาไถเหล็ก) ชาวบ้านจึงเรียกว่า หินหัวพะเนียง, ผาหินศิลาเดช ร่อยรอยประวัติศาสตร์สมัยฝรั่งเศสเรืองอำนาจในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสเรืองอำนาจในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสได้นำเรือกลจักรไอน้ำขนส่งสินค้าระหว่างหลี่ผี-เวียงจันทน์ ผ่านมายังไทย มีการสลักตัวเลขที่หน้าผาหินบอกระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และหาดหงส์ เนินทรายแม่น้ำโขงขนาดมหึมาเกิดจากการพัดพาของน้ำและนำตะกอนทรายมาทับถมกันจนทำให้เป็นพื้นทรายกว้างใหญ่ ช่วงเวลาที่นิยมมาเที่ยวจะเป็นช่วงก่อนพระอาทิตย์อัสดง แสงเหลืองส้มอ่อน ๆ สะท้อนกับพื้นทรายสีขาวระยิบระยับสวยงามที่สุด

           อย่างไรก็ตาม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน โทรศัพท์ 0 4533 8057, 0 4533 8015 และ ททท.สำนักงานอุบลราชธานี โทรศัพท์ 0 4524 3770, 0 4525 0714 เว็บไซต์ tourismthailand.org 


 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี



  พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง หรือ แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง เป็นแหล่งทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 25 ไร่เศษ จัดแสดงวิถีชีวิตของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 1,822-4,600 ปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ ย้อนหลังไปกว่า 5,000 ปีการเดินทางไป พิพิธภัณฑ์นี้ได้แบ่งการจัดแสดงออกเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่

           1. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อาคารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยแบ่งตามห้องจัด แสดง เช่น ห้องจัดแสดงขั้นตอนการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์, ห้องสมัยก่อนประวัติศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากบ้านนาดี ตำบลพังงา อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี จากบ้านนาโก ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และจากจังหวัดหนองคาย, ห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ จากบ้านธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และห้องจัดแสดงโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมบ้านเชียง จากหลายแหล่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ที่จังหวัดอุดรธานี และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียง

           2. การจัดแสดงสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียง ที่อาคารสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี แบ่งการจัดแสดงออกตามห้องดัง ได้แก่ ห้องโลหะกรรม จัดแสดงเกี่ยวกับการขุดค้นทางโบราณคดีบ้านเชียง และเรื่องราวของการทำสำริดและเหล็ก รวมถึงแหล่งแร่โบราณตามแหล่งต่าง ๆ ด้วย, ห้องเครื่องปั้นดินเผา เป็นห้องที่จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา การกำหนดอายุลักษณะเครื่องปั้นดินเผาแบบต่าง ๆ ภาชนะดินเผากับประเพณีการฝังศพ ตลอดจนเทคนิคการผลิตภาชนะดินเผาที่บ้านเชียง, ห้องบ้านเชียง การค้นพบสำริดที่สาบสูญ เป็นนิทรรศการที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2525-2529 แสดงผลการสำรวจขุดค้น ศึกษา และวิจัยหลักฐานทางโบราณคดี ที่ได้จากการขุดค้นร่วมกันระหว่างกรมศิลปากรและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่บ้านเชียง เมื่อปี พ.ศ. 2517-2518 และห้องบ้านเชียงวันนี้ เป็นการรวบรวมข้อมูลและวัตถุพื้นบ้านของชาวบ้านเชียงในปัจจุบัน ซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นชาวพวน มาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเชียงตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์หรือเมื่อประมาณ 200ปีมาแล้ว ซึ่งเดิมมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่เมื่อมีการขุดพบโบราณคดีที่บ้านเชียง สังคมและการดำรงชีวิตส่วนหนึ่งได้เปลี่ยนแปลงไป

   นอกจากนี้ ยังมีแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีวัดโพธิ์ศรีใน ที่อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียง ประมาณ 500 เมตร เป็น 1 ในหลายแห่งที่ขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง แหล่งนี้ได้ขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 เป็นหลุมขุดค้นที่จัดอยู่สมัยปลายของวัฒนธรรมบ้านเชียง มีอายุระหว่าง 2300-1800 ปีมาแล้ว สมัยนี้ภาชนะดินเผาจะเขียนลายพื้นสีแดงบนลายสีนวลเขียนลายสีแดงบนพื้นสีแดง และฉาบด้วยน้ำดินสีแดงแล้วขัดมัน ส่วนด้านโลหะกรรม ยุคนี้รู้จักการนำเหล็กมาใช้ได้แล้ว ส่วนสำริดถึงแม้จะพบทำเป็นเครื่องใช้น้อยลง แต่ยังคงทำเป็นเครื่องประดับที่พัฒนาด้านความประณีต และสวยงามมากกว่าทุกสมัย และบ้านไทพวน อยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติบ้านเชียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 700 เมตร เดิมเป็นบ้านของ นายพจน์ มนตรีพิทักษ์ มอบให้กรมศิลปากร เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นโบราณสถาน และได้มีการขุดค้นตามหลักวิชาการทางโบราณคดี ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริเวณบ้านไทพวนจะปลูกต้นไม้ พืชผักสวนครัว รั้วบ้าน กินได้ ให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบท้องถิ่นไทพวน

           ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุดรธานี โทรศัพท์ 0 4232 5406-7, 0 4232 5408 หรือเว็บไซต์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง 


อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์


อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตั้งอยู่บ้านตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ ประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญคือ ปราสาทหินพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตร (คำว่า พนมรุ้ง หรือ วนํรุง เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาใหญ่) โดยเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม ได้หันมานับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาในช่วงนั้น

           สำหรับปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ประกอบด้วยอาคารและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่ตั้งเรียงรายขึ้นไปจากลาดเขาทางขึ้นจนถึงปรางค์ประธานบนยอด อันเปรียบเสมือนวิมานที่ประทับของพระศิวะ บันไดทางขึ้นช่วงแรกทำเป็นตระพัง (สระน้ำ) สามชั้นผ่านขึ้นมาสู่พลับพลาชั้นแรก จากนั้นเป็นทางเดินซึ่งมีเสานางเรียงปักอยู่ที่ขอบทางทั้งสองข้างเป็นระยะ ๆ ถนนทางเดินนี้ ทอดไปสู่สะพานนาคราช ซึ่งเปรียบเสมือนจุดเชื่อมต่อระหว่างดินแดนแห่งมนุษย์และสรวงสวรรค์ ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน


 ปรางค์ประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือ ห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุนปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายงดงาม ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17

           ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16 นอกจากนี้ ยังมีฐานปรางค์ก่อด้วยอิฐซึ่งมีอายุเก่าลงไปอีก คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 อยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือขององค์ประธาน และที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยกับพลับพลาที่สร้างด้วยศิลาแลงข้างทางเดินที่เรียกว่า “โรงช้างเผือก”

           ทั้งนี้ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 (นับแบบไทย) ของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ แสงอาทิตย์จะทำมุมลอดทะลุประตูทั้ง 15 บานของปราสาทได้อย่างพอดี ชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน โดยอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โทรศัพท์ 0 4478  2715 เว็บไซต์ buriram.go.th และ ททท.สำนักงานสุรินทร์ โทรศัพท์ 0 4451 4447-8, 0 4451 8530 เว็บไซต์ tourismthailand.org 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น